รีวิว มงคลที่ 15 : ทานญฺ จ การให้



มงคลที่ 15 : ทานญฺ จ การให้
        ทาน การให้ ได้แก่ ความที่บุคคลมีเจตนาไม่โลภ ไม่ตระหนี่ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่ สามารถที่จะบริจาคพัสดุของตนออกเกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้ โดยฐานอนุเคราะห์หรือบูชาคุณ สนับสนุนให้ผู้อื่นได้รับความสุขหรือสะดวกในกิจการ
       การให้ย่อมเป็นเครื่องสมานไมตรีจิต อีกทั้งนำให้ประสบผลเป็นสันทิฏฐะ ...ผลที่ตนจะพึงเห็นได้เองเป็นหลายประการ
        ดังพุทธบรรหารที่ตรัสว่า ผู้ให้....ย่อมมีผู้รักใคร่ คนเป็นอันมากย่อมคบเขา เกียรติยศและบริวารยศย่อมเจริญ ผู้ไม่ตระหนี่เป็นผู้ไม่เก้อเขิน องอาจเข้าสู่สมาคมเหตุนั้นจึงจัดว่าเป็นมงคลอันอุดมแก่ผู้บำเพ็ญ
หมู่คนที่อยู่รวมกัน ต้องถ้อยที่ถ้อยอาศัยกัน ต่างฝ่ายต่างให้ความโอบอุ้มแก่กัน ผู้ใหญ่มีหน้าที่สงเคราะห์ผู้น้อย แม้ผู้น้อยก็มีหน้าที่สมนาคุณผู้ใหญ่ตามกำลัง ผู้มั่งคั่งมีหน้าที่รับภาระเกื้อกูลแก่คนขัดสน ถึงคนขัดสนเล่าเมื่อได้รับเกื้อกูลแล้ว ก็ต้องคิดตอบแทนตามโอกาส แต่ละคนต้องมีทานไว้เป็นเชือกต่อที่ขาดให้ติดกัน มีทานไว้เป็นยาสมานรอยร้าวให้สนิท มีทานไว้เป็นเครื่องปิดช่องทะลุให้มิดชิด มีทานไว้เป็นบ่วงคล้องน้ำใจแก่กัน ให้รวมกันเป็นกลุ่มด้วยความสามัคคี
       ทาน การให้ จะเกิดมีได้นั้นต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ สิ่งของที่สมควรให้ เจตนาคือความตั้งใจที่จะให้ และบุคคลผู้สมควรจะให้  ในองค์ ๓ นี้ ถ้าขาดองค์ใดไปเสียแล้ว การให้ก็หาเกิดขึ้นได้ไม่
เมื่อไม่มีสิ่งของที่สมควรให้ แม้มีเจตนาที่จะให้และผู้สมควรจะให้มีอยู่พร้อมแล้ว การให้ก็ไม่สำเร็จกิจเพราะไม่มีอะไรจะให้ หรือมีสิ่งของที่สมควรให้และผู้สมควรให้และมีเจตนาพร้อมแล้ว แต่ขาดผู้สมควรให้ คือผู้รับเสียก็ดี การให้ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน
       สำหรับเจตนาผู้ให้นั้น มีอยู่ ๓ระยะกาล คือ ตั้งใจให้ไว้ก่อนจะให้ ตั้งใจให้ในขณะกำลังสละ ครั้นให้แล้วก็อิ่มใจ ทุกขณะที่ระลึกถึง ผู้ให้ทานมีเจตนาดังกล่าว เต็มเปี่ยม ย่อมเป็นคนไม่ตระหนี่ ยินดีในการเสียสละ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน
       แต่การให้ซึ่งได้ชื่อว่าทานนั้น ไม่เฉพาะเพียงแค่การบริจาคพัสดุสิ่งของเกื้อกูลเท่านั้น การให้โอวาทเพื่อชักนำเกื้อหนุนให้เกิดความรู้ ก้าวขึ้นสู่ปัญญา ยิ่งจัดว่าเป็นการเผื่อแผ่อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีอะไรจะเทียมถึง พระพุทธองค์สรรเสริญว่า เป็นยอดแห่งทานทั้งหลาย
       ผู้มีอัธยาศัยเผื่อแผ่ประโยชน์ นอกจากบริจาคพัสดุอันเป็นส่วนอามิสออกเกื้อกูลแล้ว ถ้าสามารถอยู่ก็ควรเอื้อเฟื้อเผื่แผ่ในทางธรรม ชักนำให้เขาได้ประโยชน์ในทางความรู้ หรือความปฏิบัติอันเป็นส่วนของจรรยา
      ผู้มีอัธยาศัยเช่นนี้ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีมงคลอยู่แก่ตน ย่อมจะประสบผลล้วนแต่เป็นความเจริญโดยชอบธรรม ทั้งเป็นทางชักนำความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นธรรมตามกันไป จัดเป็นมงคลประการหนึ่ง

ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์
         ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่  

ภาพประกอบ
https://www.facebook.com/Discover-Art--296896040430960/timeline/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น