รีวิว มงคลที่ 16 : ธมฺจริยา จ ความประพฤตเป็นธรรม





มงคลที่ 16 : ธมฺจริยา จ  ความประพฤตเป็นธรรม

     ความประพฤติเป็นธรรม คือความประพฤติสุจริต จะประกอบกิจการอย่างใด ทางกาย วาจา หรือใจ ก็ให้เป็นสุจริต ไม่ผิดธรรม
     ปราศจากความเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางกายและวาจา แม้ทางใจก็มิให้มีเจตนาเกิดขึ้น เว้นจากการเบียดเบียนชีวิตและความสุข เบียดเบียนทรัพย์สมบัติ เบียดเบียนประเวณี มีกัลยาณธรรมประจำที่ คือ มีเมตตากรุณา เห็นสุขทุกข์ของผู้อื่น ประกอบการเลี้ยงชีพเป็นสัมมาอาชีวะ ยินดีเฉพาะแต่ในคู่ครองของตน นี้เป็นส่วนกาย
     เว้นจากการกล่าวเท็จ กล่าวส่อเสียดยุยงเขา พูดเหลวไหลไม่ได้ประโยชน์ รักษาวาจาให้เป็นหลักฐานที่เชื่อฟังได้ ชักนำบุคคลในทางสามัคคี มีวจาอ่อนหวาน น่าคบเป็นสหาย จะกล่าวคำใดก็ประกอบด้วยเหตุผลไม่ไร้ประโยชน์  นี้เป็นส่วนวาจา
     ส่วนจิต...ไม่คิดโลภ  รู้จักพอด้วยของของตนที่มีอยู่ ไม่ตระหนี่ พอจะเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นได้ แต่ก็ไม่สุรุ่ยสุร่ายนัก ไม่พยาบาทปองร้าย มีใจเย็น แช่มชื่นด้วยเมตตากรุณา รู้จักอดรู้จักยั้ง ไม่ผลุนผลัน ดำเนินตนให้เกิดปัญญา มีปรีชารู้ เท่าถึงการณ์ ชอบแก่เหตุผล
     ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจะเป็นความดีแก่มนุษย์ยิ่งกว่ากิริยาวาจาใจที่ตั้งอยู่ในธรรมจริยา ซึ่งเป็นการประพฤติความดีความถูก หรือทำดีทำถูก
     แนวปฏิบัติประพฤติธรรมมีอยู่่ ๒ สถาน คือ ประพฤติเป็นยุติธรรม และประพฤติเป็นสุจริคธรรม
ประพฤตเป็นยุติธรรมคือ ยึดหลักถือหลักรักษาหลักที่เที่ยงตรง แน่นอน ประกอบด้วยสัตย์ ความเที่ยงธรรม และความหยั่งรู้นี่เรียกว่าความยุติธรรม
     คนผู้ยึดหลักเที่ยงตรง แน่นอน ถูกชอบสมควรสงวนสิทธิคืออำนาจที่ชอบธรรม ในส่วนควรใด้ ควรมี ควรเป็นของมนุษย์ ทำให้ผู้ได้ ผู้มี ผู้เป็นเต็มใจ เห็นเป็นส่วนเสมอหน้ากัน สมควรแก่ส่วน ควรได้ ควรมี ควรเป็น ปราศจากอาการเหลื่อมล้ำต่ำสูง ไม่เป็นเหตุก่อให้เกิดน้อยเนื้อต่ำใจหรืออับอายขายหน้าแก่กันและกันเช่นนี้ นี่คือผู้ประพฤติเป็นยุติธรรม
     ประพฤติเป็นสุจริคธรรม นั้นหมายถึงการประพฤติเป็นกุศลบถ อันเป็นที่รวมแห่งความดี มีจุดสำคัญอยู่ที่เว้นพูดชั่ว คิดชั่ว ทำชั่ว และพูดดี คิดดี ทำดี
     ประพฤติสุจริคธรรมนั้น มีลักษณะปรากฎอยู่ที่ตัวผู้ประพฤติเองเช่น
     ประพฤติเป็นสุจริคในบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยการปฏิบัติชอบต่อกัน
     ประพฤติเป็นสุจริคในการอาชีพเว้นการเลี้ยงชีพในทางทุจริต ขยันหมั่นเพียรในทางสุจริต ถูกต้อง
     ประพฤติเป็นสุจริคในหน้าที่ ทำงานในหน้าที่ใดก็ถือหน้าที่นั้นเป็นสำคัญ ทำการงานให้สำเร็จผลเป็นอันดี
     ผู้ปฏิบัติตนเช่นนี้ ชื่อว่าเป้นผู้ประพฤติธรรม ย่อมจะชักพาตนให้ถึงความเจริญ นับเป็นมงคลประการหนึ่ง

         ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่
ภาพประกอบ
https://www.facebook.com/296896040430960/photos/a.297127177074513.71867.296896040430960/855417227912169/?type=3&theater

รีวิว มงคลที่ 15 : ทานญฺ จ การให้



มงคลที่ 15 : ทานญฺ จ การให้
        ทาน การให้ ได้แก่ ความที่บุคคลมีเจตนาไม่โลภ ไม่ตระหนี่ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่ สามารถที่จะบริจาคพัสดุของตนออกเกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้ โดยฐานอนุเคราะห์หรือบูชาคุณ สนับสนุนให้ผู้อื่นได้รับความสุขหรือสะดวกในกิจการ
       การให้ย่อมเป็นเครื่องสมานไมตรีจิต อีกทั้งนำให้ประสบผลเป็นสันทิฏฐะ ...ผลที่ตนจะพึงเห็นได้เองเป็นหลายประการ
        ดังพุทธบรรหารที่ตรัสว่า ผู้ให้....ย่อมมีผู้รักใคร่ คนเป็นอันมากย่อมคบเขา เกียรติยศและบริวารยศย่อมเจริญ ผู้ไม่ตระหนี่เป็นผู้ไม่เก้อเขิน องอาจเข้าสู่สมาคมเหตุนั้นจึงจัดว่าเป็นมงคลอันอุดมแก่ผู้บำเพ็ญ
หมู่คนที่อยู่รวมกัน ต้องถ้อยที่ถ้อยอาศัยกัน ต่างฝ่ายต่างให้ความโอบอุ้มแก่กัน ผู้ใหญ่มีหน้าที่สงเคราะห์ผู้น้อย แม้ผู้น้อยก็มีหน้าที่สมนาคุณผู้ใหญ่ตามกำลัง ผู้มั่งคั่งมีหน้าที่รับภาระเกื้อกูลแก่คนขัดสน ถึงคนขัดสนเล่าเมื่อได้รับเกื้อกูลแล้ว ก็ต้องคิดตอบแทนตามโอกาส แต่ละคนต้องมีทานไว้เป็นเชือกต่อที่ขาดให้ติดกัน มีทานไว้เป็นยาสมานรอยร้าวให้สนิท มีทานไว้เป็นเครื่องปิดช่องทะลุให้มิดชิด มีทานไว้เป็นบ่วงคล้องน้ำใจแก่กัน ให้รวมกันเป็นกลุ่มด้วยความสามัคคี
       ทาน การให้ จะเกิดมีได้นั้นต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ สิ่งของที่สมควรให้ เจตนาคือความตั้งใจที่จะให้ และบุคคลผู้สมควรจะให้  ในองค์ ๓ นี้ ถ้าขาดองค์ใดไปเสียแล้ว การให้ก็หาเกิดขึ้นได้ไม่
เมื่อไม่มีสิ่งของที่สมควรให้ แม้มีเจตนาที่จะให้และผู้สมควรจะให้มีอยู่พร้อมแล้ว การให้ก็ไม่สำเร็จกิจเพราะไม่มีอะไรจะให้ หรือมีสิ่งของที่สมควรให้และผู้สมควรให้และมีเจตนาพร้อมแล้ว แต่ขาดผู้สมควรให้ คือผู้รับเสียก็ดี การให้ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน
       สำหรับเจตนาผู้ให้นั้น มีอยู่ ๓ระยะกาล คือ ตั้งใจให้ไว้ก่อนจะให้ ตั้งใจให้ในขณะกำลังสละ ครั้นให้แล้วก็อิ่มใจ ทุกขณะที่ระลึกถึง ผู้ให้ทานมีเจตนาดังกล่าว เต็มเปี่ยม ย่อมเป็นคนไม่ตระหนี่ ยินดีในการเสียสละ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจาน
       แต่การให้ซึ่งได้ชื่อว่าทานนั้น ไม่เฉพาะเพียงแค่การบริจาคพัสดุสิ่งของเกื้อกูลเท่านั้น การให้โอวาทเพื่อชักนำเกื้อหนุนให้เกิดความรู้ ก้าวขึ้นสู่ปัญญา ยิ่งจัดว่าเป็นการเผื่อแผ่อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีอะไรจะเทียมถึง พระพุทธองค์สรรเสริญว่า เป็นยอดแห่งทานทั้งหลาย
       ผู้มีอัธยาศัยเผื่อแผ่ประโยชน์ นอกจากบริจาคพัสดุอันเป็นส่วนอามิสออกเกื้อกูลแล้ว ถ้าสามารถอยู่ก็ควรเอื้อเฟื้อเผื่แผ่ในทางธรรม ชักนำให้เขาได้ประโยชน์ในทางความรู้ หรือความปฏิบัติอันเป็นส่วนของจรรยา
      ผู้มีอัธยาศัยเช่นนี้ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีมงคลอยู่แก่ตน ย่อมจะประสบผลล้วนแต่เป็นความเจริญโดยชอบธรรม ทั้งเป็นทางชักนำความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นธรรมตามกันไป จัดเป็นมงคลประการหนึ่ง

ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์
         ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่  

ภาพประกอบ
https://www.facebook.com/Discover-Art--296896040430960/timeline/

รีวิว มงคลที่ 14 : อนากุลา จ มฺมนฺตา การงานไม่คั่งค้าง

12004833_808628289257730_8185135134271633522_n
Photo By:Discover Art .

คำว่า งาน หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ทำ ,อุบายเครื่องเลี้ยงชีวิต

คำว่า คั่งค้าง มาจากคำว่า อากูล หมายถึง งานที่ผู้ทำควรทำให้แล้วในวันเดียว          แต่ไม่แล้ว งานที่ผู้ทำนั้นเกียจคร้านทอดทิ้ง และปล่อยให้งานค้างมาประดังกับงานใหม่จนทำไม่ไหว ต้องตกค้างไปในวันอื่นอีก

กิจที่ควรทำหรือที่ต้องทำทุกอย่างนั้น รวมเรียกว่าการงานทั้งสิ้น การงานแต่ละอย่างซึ่งคนแต่ละคนทำให้คั่งค้าง จนเกิดเป็นงานวุ่นวาย งานสับสน และเป็นงานยุ่งเหยิงขึ้น เป็นงานอัปมงคล แม้คนทำก็เป็นอัปมงคล

ส่วนการงานซึ่งคนแต่ละคนทำให้ไม่คั่งค้าง มีความสงบเรียบร้อยในกางานเป็นระเบียบ ราบรื่น นี่คืองานเป็นมงคล แม้คนทำก็เป็นมงคล เหตุนั้นงานที่เป็นมงคลหรืออัปมงคลก็อยู่ที่คนทำเหมือนกัน

บุคคลผู้ที่จะทำหน้าที่บำรุงบิดามารดา ด้วยน้ำใจอันกตัญญูกตเวที หรือสงเคราะห์บุตรภรรยา ได้สะดวกไม่ติดขัด ก็เพราะมีการงานที่ทำเป็นส่วนอาชีพไม่คั่งค้างมีทรัพย์เป็นกำลังที่ตั้งแห่งพื้นเพของตน

อันบุคคลผู้ตั้งตนอยู่ในโลก ย่อมมีอาชีพเป็นการประจำ จะประณีตหรือต่ำทรามก็แล้วแต่ภูมิฐานและความประกอบของบุคคล บุคคลผู้รู้จักประกอบแม้พื้นเพเดิมจะด้อยมา ก็สามารถจะตั้งตนขึ้นได้ ฝ่ายผู้ไม่รู้จักประกอบ แม้แต่เดิมจะมีหลักฐานก็ไม่อาจบริหารไว้ได้ พาให้ต่ำต้อยลง ความไม่รู้จักประกอบนั้นแหละเรียกว่าความคั่งค้าง เสื่อมเสียแห่งการงาน

หลักการทำงานไม่ให้คั่งค้างมี ๔ ประการเรียกว่าอิทธิบาท๔ ได้แก่

ฉันทะ.....ความพอใจในงาน

วิริยะ......ความพากเพียรในงาน

จิตตะ......มีใจฝักใฝ่ในงาน

วิมังสา.....พิจารณาเหตุผลในการทำงาน

การงานที่จะพ้นจากความไม่คั่งค้าง ก็เพราะบุคคลผู้ประกอบเป็นผู้รู้จักกาล ทำเหมาะเจาะกำลังทรัพย์ไม่เกียจคร้าน ขยันขันแข็ง และไม่ประกอบในทางอันเป็นโทษซึ่งเรียกว่ามิจฉาอาชีวะ

บุคคลผู้รู้จักกาล เมื่อถึงคราวที่ประกอบก็ประกอบไม่เร็วไป ไม่ช้าไปแล้ว และทำให้เหมาะแก่กำลังทรัพย์ ทั้งมีความขยัน และไม่ประกอบในทางผิดอันเป็นทุจริตผลที่ได้ก็บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง ทั้งไม่เดือดร้อนใจ

การงานที่เสื่อมเสียท่านมักติไว้ในทางเกียจคร้าน เป็นเบื้องหน้า เพราะเมื่อเกียจคร้านแล้ว ก็ไม่มีทางจะนำมาซึ่งโภคทรัพย์ด้วยประการใดใด เหตุนั้น พระพุทธภาษิต จึงตรัสไว้ว่า ประโยชน์ที่ประสงค์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปล่วงหมู่มาณพผู้สละการงานเสียแล้ว ด้วยอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เวลาเย็นนักแล้ว ดังนี้เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ว่าการงานที่ไม่คั่งค้างเป็นมูลที่ตั้งอันสำคัญแห่งความเจริญด้วยทรัพย์สมบัติ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นมงคลอันอุดม

ผู้ทนทาน     ความหนาว   และผ่าวร้อน

ให้ไม่หย่อน   กว่าหญ้า     พฤกษาเขียว

มุ่งทำกิจ       คิดสู้           อยู่อย่างเดียว

เขานั้นเที่ยว  เสวยสุข       อยู่ทุกยาม

ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์

ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่

ภาพประกอบ

https://www.facebook.com/296896040430960/photos/pb.296896040430960.-2207520000.1442132124./808628289257730/?type=1&theater

รีวิว- มงคลชีวิต มงคลที่ 7: พาหุสจจญ จ การตั้งใจฟังโดยมาก

11222953_777228272397732_5135095398699918832_n

พาหุสัจจะ แปลว่า ความสดับมาก โดยอรรถได้แก่การศึกษา

การศึกษานั้นย่อมเป็นของสำคัญ  เพราะเป็นเหตูส่งเสริมให้คนมีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น คนเราแม้จะมีเชาวว์ไหวพริบมาแต่กำเนิดสักเพียงไรก้ดี แต่ถ้าขาดการศึกษา เชาว์ไหวพริบอันมีอยู่ก็เป็นหมัน ไม่ทำประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นของนิยมของคนทั่วไป
บุคคลที่ปรากฎว่าเป็นผู้มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เฉียบแหลม จะเป็นสมัยใดใดก็ตาม ล้วนต้องเป็นผู้อยู่ในวงแห่งการศึกษาทั้งนั้นจะนอกไปจากนี้หาได้ไม่ แต่ถึงอย่างนั้นการศึกษาซึ่งจะสำเร็จเป็นความเจริญแก่บุคคล ยังต้องอาศัยบุคคลรู้จักใช้ให้สำเร็จประโยชน์และปฏิบัติตนสมแก่ความรู้
พระพุทธาษิตมีอยู่ กล่าวแต่ใจความว่า บุคคลในโลกมีอยู่ 4 จำพวก
พวกที่หนึ่ง ศึกษาน้อย ทั้งไม่หยั่งทราบเหตุผล เป็นผู้ปฏิบัติไม่สมควร
พวกที่สอง ศึกษาน้อย แต่หยั่งทราบเหตุผล เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
พวกที่สาม ศึกษามาก แต่ไม่หยั่งทราบเหตุผล เป็นผู้ปฏิบัติไม่สมควร
พวกที่สี่  ศึกษามาก ทั้งหยั่งทราบเหตุผล  เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

แล้วทรงติพวกที่หนึ่ง พวกที่สาม ทรงสรรเสริญพวกที่สี่และสอง

ตามนัยแห่งพุทธภาษิต สันนิษฐานได้ว่า บุคคลแม้ประกอบด้วยการศึกษา แต่ไม่ใช้ความรู้ให้สำเร็จประโยชน์ และปฏิบัติตนไม่สมควร ความศึกษาก็ไร้ผล ต่อรู้จักใช้และปฏิบัติตนดี จึงจะสามารถส่งเสริมบุคคลให้ยิ่งขึ้นไป
พาหุสัจจะที่จัดเป็นมงคลนั้น ก็เพราะเหตุแห่งความสรรเสริญ และเป็นเหุตุให้ละความเขลา ก้าวขึ้นสู่ความฉลาด ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วนั้น สมเด็จพระบรมโลกนาถ จึงตรัสว่า…………
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกที่เป็นผู้สดับ ย่อมละอกุศล
บำเพ็ญกุศล ละกรรมอันมีโทษ
บำเพ็ญกรรมอันปราศจากโทษ
ย่อมบริหารตนให้บริสุทธิ์
เมื่อบุคคลผู้เจริญด้วยการศึกษาถือปฏิบัติ อบรมตนให้เป็นคนดี ในไตรภพ กระทั่งเป็นคนบริสุทธ์ หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเป็นมงคลยอดชีวิต เพราะเป็นเหตุให้บุคคลนั้น เจริญด้วย มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ ชื่อว่าดำเนินตนอยู่ในทางแห่งความเจริญ จัดว่าเป็นมงคลแก่ตนประการหนึ่ง

การจะเป็น      พหูสูต        นั้นไม่ยาก

คือฟังมาก     หลายหน      จนคุ้นหู

ฟังธรรมมะ    ทุกวัน          จากเจ้ากู

จะได้รู้        หลักธรรม       ย้ำมงคล


ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์

         ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่

ภาพประกอบ :https://www.facebook.com/pages/Discover-Art-/296896040430960?sk=info&tab=page_info

รีวิว มงคลที่ 13 : ทารสุส สงฺคโห การสงเคราะห์ภรรยา

11230672_805582569562302_2265944879315778580_n

Photo :Discover Art . 

ภรรยา หมายถึง หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย

พระพุทธองค์ทรงแสดงประเภทของภรรยาไว้เป็น ๗ ประเภท ในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย ดังนี้

  • ภรรยาเหมือนเพชฌฆาต

  • ภรรยาเหมือนโจร

  • ภรรยาเหมือนแม่

  • ภรรยาเหมือนพี่สาว

  • ภรรยาเหมือนเพื่อนรัก

  • ภรรยาเหมือนคนใช้

คำว่า สงเคราะห์ แปลว่า การยึดเหนี่ยว คือการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน การที่สามีสงเคราะห์ภรรยาก็เป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจภรรยานั้นเอง

คนเราจะรักเคารพนับถือกันนั้น ก็ต้องอยู่ที่การช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนกัน เพราะการช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนกันนั้น เป็นเกลียวยึดเหนี่ยวผูกพันน้ำใจกัน ให้เกิดความรักเคารพนับถือ

พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีการสงเคราะห์ภรรยาไว้ ๕สถานคือ

  1. ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา คือรับรองว่าหญิงนั้นเป็นภรรยาของตนจริง เปิดเผยชมเชยภรรยาให้ปรากฏแก่วงศ์ญาติ และมิตรสหายว่าเป็นภรรยาของตน

  2. ไม่ดูหมิ่นถิ่นแคลนภรรยาไม่แสดงกิริยาหรือพูดจาที่เป็นการดูถูกดูหมิ่นภรรยา แม้ภรรยาจะมีสกุลต่ำต้อยว่าตน ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ภรรยาต้องเจ็บช้ำระกำใจ นี่ชื่อว่าไม่ดูหมิ่นถิ่นแคลนภรรยา

  3. ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา สามีพึงยินดีอยู่แต่ในภรรยาของตน ไม่คิดนอกใจไปมีมากชู้หลายเมีย จะทำให้เกิดความขมขื่นใจแก่ภรรยาของตน อันเป็นชนวนแห่งความร้าวรานแตกสามัคคี และเป็นเหตุก่อให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้นในครอบครัว

  4. มอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยา มอบหน้าที่การงานภายในบ้านให้ภรรยาควบคุม ตลอดถึงการปกครองดูแลผู้คนและทรัพย์สิน ชื่อว่ามอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยา

  5. ให้เครื่องแต่งตัวแก่ภรรยา สามีผู้ฉลาดในชั้นเชิงบำรุงน้ำใจแก่ภรรยา พึงให้เครื่องแต่งตัวพอเหมาะพอดับกาลเทศะ เพื่อให้เทียมหน้าเทียมตาเพื่อนบ้านเพื่อเสริมความสุขใจของภรรยาตามสมควร

เมื่อภรรยาได้รับสงเคราะห์จากสามีแล้ว ต้องตั้งใจตอบแทนคุณงามความดีโดยสงเคราะห์สามี อันมีอยู่ ๕ สถานคือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ไม่ประพฤตินอกใจสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ไว้ และขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

เมื่อสามีภรรยาต่างได้สงเคราะห์กันตามหน้าที่ให้บริบูรณ์ ย่อมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ ด้วยยศ ด้วยเกียตริ และด้วยความสุขกายสุขใจ พร้อมทั้งความรักใคร่กันไม่จืดจาง เหตุนั้นการสงเคราะห์ภรรยาจัดเป็นมงคลความเจริญประการหนึ่ง


ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์

ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่

ภาพประกอบ

https://www.facebook.com/296896040430960/photos/a.297127177074513.71867.296896040430960/805582569562302/?type=1&theater


มงคลที่ 12 : ปตฺต สงฺคโห การสงเคราะห์บุตร

11148710_802834453170447_2398576043461290982_n

Photo by Discover Art .

บุคคลเมื่อปรารภถึงตนที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้น้อยก็มีหน้าที่ ในทางกตัญญูกตเวที แต่ฐานะแห่งบุคคลย่อมเลื่อนชั้นขึ้นไปโดยลำดับ เมื่อตนตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ก็มีกิจที่ตนจะพึงกระทำในทางสังเคราะห์บุตร อันเป็นพัสดุที่ตั้งสำคัญของหมู่มนุษย์ ซึ่งมีฐานเป็นผู้ดำรงวงศ์สกุล

บุตรผู้ไร้ความสามารถจนไม่สมจะเป็นทายาทแห่งสกุล มักมีมูลมาแต่ความบกพร่องของบิดามารดา บุตรที่บิดามารดาตามใจพะนอมาแต่เล็ก แต่ไม่เคยอบรมอุปนิสัยในทางที่ควร มักเสียเด็ก โตขึ้นก็เกกมะเหรกจนใช้การไม่ได้

ความรักของบิดามารดาเช่นนั้น จัดว่าเป็นเวรและเป็นศัตรูของเด็ก ดังภาษิตแปลความได้ว่า...มารดาเป็นไพรี บิดาเป็นศัตรู ก็เพราะไม่ฝึกลูกเสียแต่ยังเล็ก เหตุนั้นบิดามารดาจึงไม่ควรแต่สักว่าเป็นมารดาบิดาเขา นอกจากจะเลี้ยงดูเพื่อความเจริญแห่งร่างกายแล้ว ยังต้องเอาใจใส่ สงเคราะห์ตามหน้าที่อันควร

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสอนสิงคาลมาณพ ทรงแสดงฐานะที่มารดาบิดา จะพึงสงเคราะห์บุตรโดยสถาน ๕ คือ

  • ห้ามเสียจากความชั่ว

  • ให้ตั้งอยู่ในความดี

  • ให้ศึกษาศิลปวิทยา

  • หาคู่ครองที่สมควรให้

  • มอบทรัพย์ให้ในสมัย

ฐานะสองประการข้างต้น ย่อมเป็นกิจอันมารดาบิดาจะพึงทำตั้งแต่อ้อนแต่ออก เพราะเนื่องด้วยการอบรมอุปนิสัย ความรู้ในโลกยิ่งเจริญขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งละเอียดลออยิ่งขึ้นตามกัน ทั้งเป็นฐานะอันสำคัญที่จะนำให้ผลเกิดไพบูลย์ ซึ่งเป็นมูลแห่งความสงเคราะห์เป็นลำดับไป

มารดาบิดาเป็นผู้สงเคราะห์บุตร จนได้แลเห็นผลแห่งความสงเคราะห์ ย่อมเบิกบานใจ หมดความห่วงใยที่จะต้องวิตกถึงในเบื้องหน้า ดังโคลงกล่าวไว้ว่า............

บุตรดีเป็นที่ปลื้ม เปรมกมล

แห่งชนกชเนติ์ตน ค่ำเช้า

บุตรชั่วบ่โดยกล กิจสั่ง สอนแฮ

ให้ท่านทั้งสองเศร้า เสื่อมสิ้นยินดี

ผิดกับผู้ไม่นำพาแล้วเสียใจเมื่อภายหลัง ซึ่งรู้สึกว่าไม่พอที่จะเป็นการสงเคราะห์บุตรนี้ ท่านกล่าวเอาไว้ว่า ไม่เฉพาะบุตรที่เกิดแต่อุระ แม้ผู้อื่นที่ตั้งอยู่ในฐานะแห่งบุตร เช่น บุตรบุญธรรม หรือผู้ที่อยู่ในปกครองอยู่ใต้อาณาก็พึงที่จักสังเคราะห์เช่นเดียวกัน โดยรู้จักผ่อนผันให้สมควร แต่ไม่ใช่ข้อที่เจาะจง

การสงเคราะห์บุตรโดยตรงนั้น จัดว่าเป็นที่ตั้งแห่งมงคลสิริสวัสดิ์ การสงเคราะห์ผู้อื่นที่นับเนื่องในฐานะแห่งบุตร ก็จัดได้ว่าเป็นมงคลความเจริญประดุจกันอีกประการหนึ่งเช่นกัน

บุตรธิดา เมื่อเกิด พ่อแม่เลี้ยง

ฝ้ากล่อมเกลี้ยง เลี้ยงดู ปูพื้นฐาน

มีหรือจน หาเลี้ยง ควรแก่กาล

เป็นผลงาน นับเข้า ในมงคล


ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์

ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่

ภาพประกอบ :

https://www.facebook.com/296896040430960/photos/a.297127177074513.71867.296896040430960/802834453170447/?type=1&theater

รีวิว มงคลที่ 11 : มาตาปิตุอุปฎฺฐานํ การบำรุงบิดามารดา

11933451_802363086550917_2138814098987292721_n

ทุกคนผู้เกิดในโลกย่อมมีมารดาบิดา

เมื่อกล่าวเพียงเท่านี้ ดูไม่เป็นของประหลาดอันใด เพราะเป็นธรรมดาของโลก แต่เมื่อหยั่งให้ซึ้งลงไปจึงจักเห็นว่า ท่านไม่เป็นเพียงแต่มารดาบิดา ยังทรงไว้ซึ่งคุณูปการเป็นอเนก เหตุนั้นจึงจัดเป็นบุพการีอันสำคัญยิ่ง ตั้งอยู่ในฐานพรหม เป็นบุรพาจารย์และเป็นอาหฺเนยยของบุตร
เทพยดาผู้พิเศษหมู่หนึ่ง มีนามว่าพรหม ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่า เป็นผู้ให้กำนิดแก่สรรพสัตว์ และได้คอยอภิบาลรักษาประชาชนชาวโลกทั่วเมทนีดล ด้วยทรงพรหมวิหารไว้เป็นนิจกาล ประดุจทรงไว้ซึ่งจตุรพักตร์ ซึ่งสามารถจักเหลือบดูแลสรรพสัตว์ทั้ง๔ทิศ ฉันใด มารดาบิดาก็เป็นผู้ให้กำเนิดและทรงพรหมวิหารไว้ในบุตรธิดาประดุจพรหม ฉันนั้น
ต่อจากนั้นท่านยังประสิทธิประสาทความรู้ความสามารถก่อนที่อาจารย์อื่นจะได้ประสาทความรู้ความสามารถให้เหตุนั้นจึงตั้งอยู่ในฐานเป็นบุรพาจารย์
เพราะคุณูปการอันเป็นประธานทั้งสองนี้ จึงตั้งอยู่ในที่เป็นอาหุเนยยของบุตร ที่บุตรจะพึงนำมาสักการะมาบูชามารดาบิดา ด้วยเหตุเป็นผู้มีคุณูปการดังกล่าว มีคำกล่าวพรรณนาพระคุณมากมาย อาทิ
    คุณแม่หนาหนักเพี้ยง พสุธา
    คุณบิดรดุจอา- กาศกว้าง
    คุณพี่พ่างศิขรา เมรุมาศ
    คุณพระอาจารย์ อาจสู้สาคร
บุตรผู้เป็นกตัญญูกตเวที รู้จักหน้าที่แห่งตนโดยชอบแล้ว ย่อมสนองคุณท่านจนสุดความสามารถ รู้สึกประหนึ่งว่า ตนเป็นหนี้บุญคุณท่านอยู่เป็นนิจ พึงทำกิจที่พึงกระทำเพื่อตอบแทนสนองคุณท่าน
เมื่อถึงคราวที่ตนสามารถรับหน้าที่เลี้ยงดูท่าน พึงเลี้ยงดูตอบแทนท่านทั้งกายและใจ
ช่วยทำกิจกรรรมของท่านให้แล้วเสร็จไป
ปฏิบัติตนให้สมแก่ที่จะดำรงวงศ์สกุล
เอาใจใส่รักษาทรัพย์สมบัติอันท่านมอบให้ไม่ให้เสื่อมไปโดยใช่เหตุ
ถ้าสามารถยิ่งกว่านั้น ก็พึงชักนำท่านให้ตั้งอยู่ในความดี ในที่สุดเมื่อท่านล่วงลับไปก็พึงทำบุญอุทิศให้ตามประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนา
บุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นหนี้บุญคุณท่าน เมื่อถึงคราวที่ควรจะทำ แม้ตั้งใจอยู่แต่ไม่สามารถด้วยประการใดๆก็ตาม จัดว่าเป็นผู้อาภัพ ไม่ทำความเบิกบานใจให้เกิดแก่ท่านผู้เป็นเจ้าพระคุณแห่งตน
ต่อได้ทำแล้วตามหน้าที่ จึงจะชื่อว่าเป็นคนดี เป็นคนไม่อาภัพ ได้รับความสุขจิตว่า กิจอันควรทำนั้น ได้ทำแล้ว พาให้ปลอดโปร่งใจ
การบำรุงมารดา บิดา ย่อมเป็นปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อความเจริญสุขสิริสวัสดิ์

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เป็นการบำรุงมารดาบิดาเป็นมงคลอันอุดม

พ่อและแม่      มีคุณ        กับลูกมาก

สู้ลำบาก        หาเลี้ยง    จนโตใหญ่

ยอมอดยาก   เพื่อลูก      อยู่ร่ำไป

ถ้าลูกได้        ตอบแทน   ก่อมงคล
ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์

     ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่   
ภาพประกอบ
:https://www.facebook.com/296896040430960/photos/a.297127177074513.71867.296896040430960/802363086550917/?type=1&theater

มงคลที่ 10 : สุภาสิตา จ ยา วาจา วาจาที่เป็นสุภาษิต


11214372_799273310193228_6570119812825234605_n


วาจาหมายถึง คำพูดที่ออกเสียงที่บุคคลอื่นเข้าใจเนื้อความ วาจานั้นย่อมเป็นของกลาง จะดีหรือชั่ว    ก็แล้วตาเจตนาของผู้พูดมุ่งจะให้เป็นไป

วาจาชั่ว ยกเสียไม่ต้องกล่าวถึง ส่วนวาจาที่จัดว่าเป็นสุภาษิต ต้องประกอบไปด้วยองค์อันเป็นคุณ และปราศจากองค์อันเป็นโทษ จึงจะไม่เป็นทุพภาษิต… ไม่มีโทษที่บัณฑิตจะพึงติเตียน

    ลักษณะแห่งคำเป็นสุภาษิต องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ 5 สถาน คือ

    • วาจาที่บุคคลพูดถูกกาล ๑

    • วาจาที่บุคคลพูดจริง ๑

    • วาจาที่บุคคลพูดอ่อนหวาน๑

    • วาจาที่บุคลพูดประกอบด้วยประโยชน์๑

    • วาจาที่บุคคลพูด้วยจิตเมตตา๑

      วาจาที่ประกอบด้วยองค์๕ นี้ จึงจะจัดเป็นสุภาษิตวาจาถึงจะดี แต่ถ้าผู้พูดไม่รู้จักกาลอันควรหรและไม่ควร นึกจะพูดก็พูด เช่นนี้อาจจะทำให้สียผลต่อรู้จักผลในกาลอันควร จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ แต่ถึงบุคคลรู้จักพูดในกาลอันควร ถ้าวาจานั้นเป็นเท็จ ก็ไม่จัดเป็นวาจาที่ชอบ เพราะถึงจะสำเร็จประโยชน์ก็เป็นทางล่อลวง ต่อเป็นคำสัตย์จริง จึงจะจัดว่าเป็นสุภาษิตที่ควรไว้วางใจของคนทั้งหลาย ถึงบุคคลผู้รู้จักกล่าวถูกกาลและเป็นคำสัตย์จริง แต่กล่าวด้วยคำหยาบ ก็คงไม่มีผู้ปรารถนาฟัง ต่อกล่าววาจาอ่อนหวานจึงจะเป็นเครื่องดูดดื่มน้ำใจคน คำพูดถึงถูกกาล ทั้งจริง ทั้งอ่อนหวาน แต่ไม่เป็นประโยชน์ก็เสียเวลาเปล่า ต่อประกอบด้วยประโยชน์จึงจะจัดเป็นวาจาที่ชอบ วาจาถึงประกอบด้วยองค์อันเป็นคุณประกอบแล้ว แต่ถ้าผู้พูดปราศจากจิตเมตตา ประกอบด้วยอคติ ก็เป็นวาจาไม่บริสุทธิ์

      องค์อันสำคัญอีกประการหนึ่งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ ก็คือ “คำอันเป็นธรรม” เพราะถึงประกอบด้วยองค์ดังกล่าวแล้ว แต่ถ้านอกไปจาก ทำนองคลองธรรมก็ใช้ไม่ได้ ส่วนคำพูดอย่างอื่น ถึงจะเป็นวาจาอันน่าฟัง จูงใจผู้อ่านผู้ฟังให้ขบขัน ตื่นเต้น หรือเศร้าโศกสลดตาม องค็สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้านว่าไม่เป็นสุภาษิต เพราะไม่นำประโยชน์มาให้แก่ตนและผู้อื่นในทางอันเป็นธรรม ต่อประกอบไปด้วยองค์อันเป็นอันเป็นคุณดังกล่าวแล้วจึงทรงอนุโมทนา

      วาจาอันเป็นสุภาษิตนี้ เมื่อมีอยู่ในบุคคลใด ก็เป็นเหตูนำความเจริญมาให้แก่บุคคลนั้น

      เมื่อพูดถูกกาล ก็เป็นอันแสดงว่าผู้พูดเป็นกาลัญญู (ผู้รู้จักกาล) เมื่อพูดจริง ก็เป็นอันแสดงว่าผู้พูดเป็นผู้มั่นในคำสัตย์ เมื่อพูดอ่อนหวานก็เป็นอันแสดงว่าผู้พูดเป็นสุภาพชน เมื่อพูดประกอบด้วยประโยชน์ ผู้พูดและผู้ฟังก็ไม่ไร้ผล เมื่อกล่าวด้วยเมตตาจิตก็เป็นอันแสดงเจตนาดีของผู้พูด

      ด้วยเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงตรัส วาจาเป็นสุภาษิต จึงจัดเป็นมงคลอันอุดมประการหนึ่ง

      แม้หวานชื่น มีตื่น หลายหมื่นแสน

      ไม่เหมือนแม้น คำขาน ที่หวานหอม

      รสคำหวาน หวานหวน ชวนประนอม

      สามารถน้อม จิตร้าย ให้กลายดี


      ที่มา: มงคลชีวิต , หลักปฏิบัติมงคล 38 ประการของคนดี ของ พระธรรมโกศาจารย์

      ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่

      ภาพประกอบ : https://www.facebook.com/296896040430960/photos/a.297127177074513.71867.296896040430960/799273310193228/?type=1&theater